Muse Around The World
ออกแบบกิจกรรมให้คนรุ่นใหม่อยากมีส่วนร่วมกับพิพิธภัณฑ์ ประสบการณ์จากสหราชอาณาจักร #2
Muse Around The World
18 พ.ค. 66 471

ผู้เขียน : ยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล

...วิชาประวัติศาสตร์การแพทย์

 

การสร้างห้องเรียนเสมือน (Virtual Classroom)1

ในสถานการณ์โรคโควิด-19 ทีมจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ (History of Science Museum) และหอสมุดบอดเลียน (Bodleian Library) ได้ออกแบบและส่งต่อห้องเรียนเสมือนที่พัฒนาแนวทางใหม่ในการส่งเสริมให้เยาวชนเข้าถึงคอลเล็กชันระดับโลก และตอบโจทย์กลุ่มผู้ชมทางไกล รวมถึงสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมออนไลน์

พิพิธภัณฑ์และหอสมุดได้เสนอกิจกรรมลงมือทำและทัศนศึกษาที่เชื่อมโยงกับหลักสูตรของโรงเรียนที่ออกแบบให้มีความยืดหยุ่น รองรับทั้งการมีส่วนร่วมบนโลกเสมือนและพื้นที่จริง มีการพัฒนากิจกรรมลงมือทำในพื้นที่สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา จำนวน 3 ครั้ง และ 4 ครั้งสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา รวมถึงกิจกรรมลงมือทำออนไลน์อีก 60 ครั้ง  

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของโครงการในระหว่างล็อกดาวน์ คือ ขาดประสบการณ์และความคุ้นเคยกับการจัดกิจกรรมออนไลน์และอุปสรรคเชิงเทคนิค ทั้งการเชื่อมต่อ การจัดฉากห้องเรียนและการควบคุมเสียง นับเป็นความท้าทายที่เจ้าหน้าที่ต้องหาวิถีทางที่ดีที่สุดในการทำงาน เช่น การรวบรวมวัตถุ ทำให้รูปแบบกิจกรรมมีความหลากหลายและไม่น่าเบื่อ และรักษาปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนในห้องเรียนเสมือน

 

 

คลิปที่ 1 ภาพรวมกิจกรรม Virtual Classrooms at the History of Science Museum - bringing the Museum to you

 

 

ฝึกประสบการณ์ทำงาน (Work Experienced)2

Norfolk Museums Service (NMS) ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ 10 แห่ง และศูนย์การเรียนรู้อีก 2 แห่ง จัดทำโครงการ
คิกเดอะดัสต์ (Kick the Dust) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกองสลากกินแบ่งรัฐบาล (National Lottery) ในโครงการ
มีการจัดการฝึกอบรมกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 11-25 ปี ในกลุ่มที่เปราะบาง หรือกลุ่มเด็กพิเศษหาประสบการณ์ทำงานในพิพิธภัณฑ์

เยาวชนได้รับการพัฒนาทักษะในการถ่ายทอดความรู้ด้วยการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม ในการอบรมออนไลน์ประกอบด้วยกิจกรรมใน 13 สัปดาห์ที่เยาวชนเรียนรู้ถึงการทำงานพิพิธภัณฑ์แบบมีส่วนร่วมกับผู้ชม โดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละองค์กรร่วมถ่ายทอดความรู้ให้เยาวชนเข้าใจการทำงานในพิพิธภัณฑ์และลงมือปฏิบัติจริง

หลังโครงการสิ้นสุด มีเยาวชน จำนวน 9 คนที่มีความก้าวหน้าในการทำงาน และ 4 คนที่ฝึกงานในพิพิธภัณฑ์ อีก 2 คนเป็นอาสาสมัครในแหล่งมรดกวัฒนธรรม ในการสัมภาษณ์ เยาวชนกล่าวถึงความมั่นใจในตนเองที่เพิ่มมากขึ้น ในสัดส่วนร้อยละ 95 มองเห็นโอกาสในการทำงาน และร้อยละ 86 อยากเป็นทำงานเป็นอาสาสมัคร

 

 

ภาพที่ 1 โปสเตอร์นิทรรศการ 'Nothing About Us Without Us' นิทรรศการผลงานของผู้เข้าร่วมโปรเจค Kick the Dust

 

การขับเคลื่อนสังคมโดยเยาวชนคนรุ่นใหม่ (Youth Panel)3

พิพิธภัณฑ์เหมืองถ่านหินแห่งชาติ (National Coal Mining Museum) ได้ทำงานร่วมกับสมาคมพิพิธภัณฑ์และองค์กรเยาวชนในยอร์กเชียร์ จัดทำโครงการ “Ignite Yorkshire” โดยใช้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change Models) เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของเยาวชนในพื้นที่ด้วยการให้คนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 14 ปีกับ 25 ปี เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในสมาคมที่สนับสนุนการขับเคลื่อนสังคม

การทำงานของโครงการนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและนำเสนอแนวทางในการจัดกิจกรรมของพิพิธภัณฑ์ และมีส่วนร่วมในการทำงานกับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ นอกจากประสบการณ์การทำงานแล้ว เยาวชนเกิดความรู้สึกร่วมในความเป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรมด้วย ดังเช่น ผลงานชื่อ ‘Locks to Legacies’ ที่กลุ่มเยาวชน 10 คน ใช้เวลานานกว่า 5 เดือน ร่วมกันสำรวจ ค้นคว้า เรียบเรียงข้อมูล และพัฒนาสื่อข้อมูลเสียง (audio walk) เพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ในการแสวงหาผลประโยชนของอาณานิคม แต่ไม่ได้รับการบอกเล่าในแหล่งมรดกอุตสาหกรรมของเมืองลีดส์ และเผยแพร่ในสื่อออนไลน์เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายด้วยอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ผู้ชมเพียงสแกนคิวอาร์โค้ดและเชื่อมต่อแอปพลิเคชันสปอร์ติฟาย

 

 

https://open.spotify.com/episode/0OWTwtb4gpGbCxmMHza6d6

คลิกลิงก์เพื่อลองฟังตัวอย่างคลิปเสียงเล่าเรื่องคลองเบรดฟอร์ด (Bradford Canal)

 

จากตัวอย่างกิจกรรมข้างต้น แสดงให้เห็นว่าพิพิธภัณฑ์และองค์กรทางวัฒนธรรมปรับเปลี่ยนบทบาท และมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น โครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ได้รับการออกแบบให้กลุ่มเยาวชนเข้าถึงและมีส่วนร่วมกับพิพิธภัณฑ์มากขึ้น ฉะนั้น การพูดคุยแลกเปลี่ยนและทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์กับเยาวชนคือโอกาสของพิพิธภัณฑ์ในการรับฟังเสียงจากคนรุ่นใหม่มากขึ้น และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนโครงการใหม่ที่แสดงถึงพลังความคิดสร้างสรรค์และสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนรุ่นใหม่แล้วที่สำคัญคือ การปรับเปลี่ยนมุมมองของเยาวชนต่องานพิพิธภัณฑ์อีกด้วย

 

ข้อมูล

1 Parkins, Christopher et al. (2022). "Virtual Classrooms: Translating formal learning from physical to digital", Case Studies:
  Young People, Vol.22, pp. 38-39, available from https://gem.org.uk/wp-content/uploads/2021/12/GM163-Gem-Case-
  Studies-28_AW02-SP61919.pdf.

2 Marsden, Christine et al. (2022). Norfolk Museum Service: Helping young people secure employment through its work
  experience programme, Case Studies: Young People, Vol.22, pp. 22-23, available from https://gem.org.uk/wp-
  content/uploads/2021/12/GM163-Gem-Case-tudies-28_AW02-SP61919.pdf.

3 Walton, Rebecca and Chris Lickley. (2022) "Industrial Revolutions", Case Studies: Young People, Vol.22, pp. 18-19,
  available from https://gem.org.uk/wp-content/uploads/2021/12/GM163-Gem-Case-Studies-28_AW02-SP61919.pdf.

 

Photo and Audio-visual Credit

ภาพปก ภาพจาก https://gem.org.uk/wp-content/uploads/2021/12/GM163-Gem-Case-Studies-28_AW02-SP61919.pdf.
คลิปที่ 1 คลิปจาก https://www.youtube.com/watch?v=fF_K3zgmFZQ&t=8s
ภาพที่ 1 ภาพจาก https://www.facebook.com/KTDnorfolk 
คลิปที่ 2 คลิปจาก 
https://open.spotify.com/show/3eHnwzy74YRVnfCjjqT0az

 

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ