Muse Around The World
ออกแบบกิจกรรมให้คนรุ่นใหม่อยากมีส่วนร่วมกับพิพิธภัณฑ์ ประสบการณ์จากสหราชอาณาจักร #1
Muse Around The World
15 พ.ค. 66 768
Bolton Museum, Bolton; Wrest Park, Bedfordshire; Maidstone Museum, Maidstone; Great North Museum: Handcock, Newcastle upon Tyne; History of Science Museum, Oxford; National Coal Mining Museum, West Yorkshire

ผู้เขียน : ยุภาพร ธัญวิวัฒน์กุล

In Focus

  • ผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกรวมถึงพิพิธภัณฑ์ในสหราชอาณาจักร
    ปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงและอุบัติการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • เยาวชนกับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมวัฒนธรรม นับเป็นความท้าทายให้กับคนทำพิพิธภัณฑ์
    เพราะปัจจุบันผู้ใช้บริการของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นเยาวชนอยู่ในระดับที่จำกัด ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ นานา
    เช่น ครอบครัวที่มีทุนทางสังคมและเศรษฐกิจในระดับล่าง หรือเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษ กลุ่มผู้มีความบกพร่องทางกายภาพและสติปัญญา เป็นต้น
  • กิจกรรมได้รับการออกแบบให้เยาวชนร่วมคิด สร้าง และแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ในรูปแบบของโครงงาน การสร้างสรรค์ผลงาน เช่น ภาพยนตร์ หรือสถานการณ์จำลองในบริบทพิพิธภัณฑ์
    เพื่อให้เยาวชนได้ใช้กระบวนการคิด สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน  และรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง

In Content

 

โดยทั่วไปพิพิธภัณฑ์มีกลุ่มลูกค้าขาประจำอยู่ไม่กี่กลุ่ม ผู้ชมกลุ่มใหญ่ที่สุดมักเป็นกลุ่มนักเรียนที่มาทัศนศึกษา รองลงมาเป็นกลุ่มครอบครัว คนวัยทำงาน และผู้สูงอายุ พิพิธภัณฑ์มักประสบปัญหาเดียวกัน คือ มีสัดส่วนกลุ่มผู้ชมที่เป็นเยาวชนน้อยมาก ทั้ง ๆ ที่แนวคิดของการทำพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่กำหนดบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น เพราะพิพิธภัณฑ์คือองค์กรทางสังคมที่สร้างความเสมอภาค (Museum for all) ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและการบริการที่หลากหลายอย่างเท่าเทียม และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

แต่จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ระบาดในช่วง 2-3 ปีก่อน ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของทุกคน ความจำเป็นที่ต้องแยกตัวอยู่กับบ้านนานหลายเดือนส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาพร่างกายและจิตใจของผู้คนในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่องค์กรภาครัฐต้องตระหนักและให้ความสำคัญ

ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 2021 คณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งอังกฤษได้รับข้อมูลจากแบบสำรวจความคิดเห็น เกี่ยวกับอนาคตหลังโรคระบาดโควิดจากเด็กและเยาชน อายุระหว่าง 4-17 ปี จำนวนมากกว่าห้าแสนคน ซึ่งคำตอบส่วนใหญ่นั้นต้องการครอบครัวที่มีความสุข ได้รับการสนับสนุนดูแลด้านสุขภาพจิตให้ดีขึ้น เข้าถึงแหล่งการศึกษาและการฝึกงานที่ดีเพื่อสร้างโอกาสในการทำงาน นอกจากนี้ ยังพบว่าในช่วงวิกฤตโรคระบาดคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่มีสุขภาพจิตที่แย่ลงกว่าเดิม

จากประเด็นดังกล่าว พิพิธภัณฑ์ในอังกฤษจึงให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมกับคนกลุ่มนี้มากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลเยาวชน พิพิธภัณฑ์ร่วมกับองค์กรทางสังคมหลายแห่งในการพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่หาประสบการณ์การทำงานในพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะการฝึกงานและอาชีพแบบที่ได้รับค่าตอบแทน ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนชายขอบที่มีฐานะการเงินไม่ดี คนเป็นออทิสติก หรือบุคคลที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ที่ต้องการการสนับสนุนในการพัฒนาทักษะการทำงานที่ดีขึ้น

ในวารสาร GEM (the Group for Education in Museums) ฉบับที่ 28 ค.ศ. 2022 นำเสนอกรณีศึกษาที่น่าสนใจในการจัดกิจกรรมให้กลุ่มเยาวชนในสภาวะการแยกตัวอยู่บ้าน และต้องพึ่งพาการสื่อสารด้วยระบบออนไลน์เป็นหลัก หลายกิจกรรมสามารถถอดเป็นบทเรียนหรือแนวทางพัฒนากิจกรรมจูงใจกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในงานพิพิธภัณฑ์ รวมถึงอาจสร้างแรงบันดาลใจในบทบาทของพิพิธภัณฑ์ต่อสังคมมาก

ในตอนแรกของบทความ จะกล่าวถึงกิจกรรมตัวอย่างที่ได้รับการออกแบบให้มีลักษณะที่หลากหลายและแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และประเภทขององค์กรร่วมจัด ได้แก่ 1) การเข้าค่ายวันหยุด (School Holidays) 2) การร่วมกันออกแบบนิทรรศการหรือโปรแกรม (Co-Design) และ 3) การออกแบบโปรแกรมเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียน (School Programs)

ในตอนสองของบทความ จะกล่าวถึงกิจกรรมตัวอย่างที่ได้รับการออกแบบให้มีลักษณะที่หลากหลายและแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของโครงการและประเภทขององค์กรร่วมจัด ได้แก่ 1) การสร้างห้องเรียนเสมือน (Virtual Classroom) 2) ฝึกประสบการณ์ทำงาน (Work Experienced) และ 3) การขับเคลื่อนสังคมโดยเยาวชนคนรุ่นใหม่ (Youth Panel)

 

 

ภาพที่ 1 เยาวชนกลุ่ม’ชายขอบ’ ที่มีภูมิหลังแตกต่างหลากชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมเป็นคณะที่ปรึกษาเยาวชน
ในโครงการ YAP (Youth Advisory Panel) กับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติวิทยา

 

การเข้าค่ายวันหยุด 1

 

พิพิธภัณฑ์โบลตัน (Bolton Museum) จัดเข้าค่ายศิลปะและวัฒนธรรม 4 สัปดาห์ที่เน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 11-16 ปีที่ได้รับสวัสดิการอาหารโรงเรียนฟรี และกลุ่มที่มีร่างกายพิการหรือภาวะการเรียนรู้ที่บกพร่อง จำนวน 20 คน พิพิธภัณฑ์ออกแบบให้เชื่อมโยงเข้ากับอาคาร ห้องจัดแสดงและวัตถุสะสมของพิพิธภัณฑ์ เน้นกิจกรรมที่ลงมือปฏิบัติและมีความสนุกและท้าทายความสามารถ หรือกิจกรรมที่ไม่สามารถรู้คำตอบล่วงหน้าได้ง่าย ๆ กิจกรรมส่งเสริมศักยภาพเยาวชนในการแสดงออกทางศิลปะ และความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างชิ้นงาน เช่น ในสัปดาห์แรกของการเข้าค่ายให้เยาวชนสร้างภาพยนตร์ในหัวข้อ สยองขวัญ (Create Your Own Horror Movie) และสัปดาห์สุดท้ายสร้างภาพยนตร์ในหัวข้อ ซุปเปอร์ฮีโร่ที่สร้างขึ้นมาจากตัวเอง (Create Your Own Superhero Alter Ego) เป็นต้น

 

 

 

คลิปที่ 1 ภาพรวมกิจกรรมในช่วงสัปดาห์แรกของการเข้าค่าย ค.ศ.2021

 

 

คลิปที่ 2 The Haunting of Smithills Hall ผลงานของเยาวชนที่เข้าค่าย ค.ศ.2021

 

 

การร่วมกันออกแบบ2

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดขึ้นจากเยาวชนที่เห็นว่ามรดกวัฒนธรรมอังกฤษไม่ค่อยมีความสำคัญหรือสัมพันธ์กับชีวิตพวกเขาจึงรู้สึกแปลกแยก เพราะมรดกวัฒนธรรมส่วนใหญ่มักเน้นการตีความไปที่กลุ่มชนชั้นสูง และละเว้นเรื่องคนตัวเล็กตัวน้อยที่เกี่ยวข้องไป จึงอยากส่งเสียงเรียกร้องให้องค์การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมอังกฤษ (English Heritage) จัดประชาสัมพันธ์และเผยแพร่มุมมองของคนรุ่นใหม่ต่อมรดกวัฒนธรรมอังกฤษ

โครงการประกาศเปิดรับสมัครช่างภาพเยาวชนอายุระหว่าง 18 กับ 25 ปี จำนวน 4 คน ร่วมกันถ่ายภาพสถานที่ทางประวัติศาสตร์มากกว่า 400 แห่งในความดูแลขององค์การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมอังกฤษเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ไม่ได้บันทึกอยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์ที่ช่วยเสริมสร้างให้เยาวชนและผู้ชมทั่วไปเข้าใจประวัติศาสตร์อังกฤษในมุมมองใหม่

รูปแบบของกิจกรรมมีลักษณะที่หลากหลาย ทั้งการจัดแสดงนิทรรศการกลางแจ้งในสถานที่ที่เป็นแหล่งมรดก จัดฉายภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ของช่างภาพทั้ง 4 คนเกี่ยวกับแนวคิดการสร้างชิ้นงาน รวมถึงโปรแกรมกิจกรรมสาธารณะในสถานที่จริงและเผยแพร่ออนไลน์ เช่น การพุดคุยกับศิลปินและการแบ่งปันประสบการณ์ของช่างภาพมืออาชีพ เป็นต้น ผลลัพธ์ของโครงการค่อนข้างประสบความสำเร็จ ภาพถ่ายสามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้กว้างขวางมากกว่าที่คาดคิดไว้ ภาพถ่ายจำนวนหนึ่งได้ขึ้นปกสื่อสิ่งพิมพ์ระดับชาติ และนิทรรศการกลางแจ้งได้ผลการตอบรับที่ดีมาก

 

ภาพที่ 2 ตัวอย่างนิทรรศการกลางแจ้ง England’s New Lenses ณ สวนเรสท์ (Wrest Park), เบดฟอร์ดเชียร์ (Bedfordshire)

 

Escape the Museum!

โปรเจคนี้เป็นชุดกิจกรรมปริศนาที่ถูกออกแบบให้ท้าทายผู้เข้าชม ลองหนีออกจากพิพิธภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยโบราณวัตถุและการตีความ โดยพิพิธภัณฑ์เมดสโตน (Maidstone Museum) จัดกิจกรรมเชิญชวนให้เยาวชนจำนวน 13 คน อายุระหว่าง 16-21 ปี เข้าร่วมโครงการในช่วงวันหยุดฤดูร้อน เป็นเวลา 10 วัน เพื่อร่วมกันออกแบบและสร้างห้องปริศนา The Locked Room และ Trapped!

โจทย์ของการออกแบบ คือ ห้องปริศนาทั้ง 2 ห้องต้องใช้เนื้อหาที่อ้างอิงจากเรื่องราวของผู้ที่เคยอยู่อาศัยในคฤหาสน์เฮดสโตน (Headstone Manor) ที่หักมุมตอนจบให้น่ากลัว และสามารถดำเนินกิจกรรมให้จบภายในระยะเวลาที่กำหนด คือ 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง

พิพิธภัณฑ์จัดกิจกรรมในทุกพื้นที่แม้แต่บริเวณที่ไม่ได้เปิดสำหรับสาธารณชน เช่น ห้องใต้หลังคา ปริศนาและคำใบ้ต่าง ๆ ถูกซ่อนไว้ตามบอร์ดนิทรรศการถาวรเพื่อไขปริศนา และเป็นคำใบ้วัตถุจัดแสดงและตัวเลขในแคตาล็อกออนไลน์ที่เป็นรหัสของคำตอบ กิจกรรมประสบผลสำเร็จนอกจากพิพิธภัณฑ์จะได้โปรแกรมกิจกรรมใหม่แล้ว
เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มเยาวชน และผู้เข้าร่วมกิจกรรมบางส่วนได้รับการจ้างงานในส่วนงานต้อนรับของพิพิธภัณฑ์อีกด้วย

 

ภาพที่ 3 เยาวชนที่เข้าร่วมออกแบบกิจกรรม Escape the Museum! ค.ศ. 2021

 

การออกแบบโปรแกรมเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียน3

โครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างพิพิธภัณฑ์เกรทนอร์ท: แฮนด์คอกค์ (Great North Museum: Handcock) กับโรงเรียนคาทอลิกคาร์ดินัลฮูม (Cardinal Hume Catholic School) และหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (Newcastle University’s Archive) ในการออกแบบกิจกรรมที่นำข้อมูลประวัติศาสตร์มาสู่การเรียนรู้ในชั้นเรียนด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งข้อมูลออนไลน์ฟรี การฝึกปฏิบัติ และเรียนรู้ด้วยการจัดทำโครงงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเอกสารจดหมายเหตุและหนังสือเก่าหายาก โดยมุ่งหวังให้เด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 270 คน มีความรู้ความเข้าใจในการใช้หลักฐานชั้นต้นเพิ่มมากขึ้น

ด้วยช่วงเวลาที่จัดกิจกรรมนี้เป็นช่วงการระบาดโรคโควิด-19 หัวข้อที่ใช้ในการทำกิจกรรมจึงเลือกประวัติศาสตร์การแพทย์โดยใช้วัตถุทำจำลอง เช่น ถ้วยป้อนอาหารสมัยกรีก สำเนาโปสเตอร์อหิวาตกโรคในท้องถิ่น เว็บไซต์เกี่ยวกับวัตถุและวีดิโอจากการอภิปรายของนักวิจัยมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล รวมถึงหลักฐานโบราณวัตถุเป็นแหล่งข้อมูลให้นักเรียนใช้ศึกษาค้นคว้า

กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการคุยแลกเปลี่ยนระหว่างทีมงานของพิพิธภัณฑ์กับคุณครูเพื่อให้แน่ใจว่าการวางแผนและจัดการข้อมูลนั้นสอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนอย่างแท้จริง ผลลัพธ์ของโครงการคือการสร้างเว็บไซต์เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลสำหรับการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์การแพทย์

 

ภาพที่ 4 ตัวอย่างของวัตถุจำลองและเอกสารจดหมายเหตุที่นำมาใช้ประกอบในกิจกรรมเรียนรู้เกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์การแพทย์

 

การสร้างห้องเรียนเสมือน...

ข้อมูล

1 Burns, Anne. (2022). “Working with Young People as a School Holiday Provision", Case Studies: Young People, Vol.22,
   pp. 4-5, available from https://gem.org.uk/wp-content/uploads/2021/12/G
M163-Gem-Case-Studies-28_AW02-
   SP61919.pdf

2 Batty, Lorna et al. (2022). "England’s New Lenses: Youth perspective on England’s heritage", Case Studies: Young
  People, Vol.22, pp. 8-9, available from https://gem.org.uk/wp-content/uploads/2021/12/GM163-Gem-Case-Studies-
  28_AW02-SP61919.pdf

3 Fail, Morgan et al. "Collaborative Working: Bringing together museums, archives and secondary schools, Case Studies:
  Young People, Vol.22, pp.10-11, available from https://gem.org.uk/wp-content/uploads/2021/12/GM163-Gem-Case-
  Studies-28_AW02-SP61919.pdf

 

Photo and Audio-visual Credit

ภาพปก  ภาพจาก https://photoworks.org.uk/englands-new-lenses-2/
ภาพที่ 1  ภาพจาก https://gem.org.uk/wp-content/uploads/2021/12/GM163-Gem-Case-Studies-28_AW02-SP61919.pdf
คลิปที่ 1  คลิปจาก https://www.youtube.com/watch?v=S_iO_0uT4b8
คลิปที่ 2  คลิปจาก https://www.youtube.com/watch?v=AYpQvBXE2oo
ภาพที่ 2  ภาพจาก https://www.english-heritage.org.uk/visit/places/wrest-park/englands-new-lenses/
ภาพที่ 3  ภาพจาก https://gem.org.uk/wp-content/uploads/2021/12/GM163-Gem-Case-Studies-28_AW02-SP61919.pdf
ภาพที่ 4  ภาพจาก https://gem.org.uk/wp-content/uploads/2021/12/GM163-Gem-Case-Studies-28_AW02-SP61919.pdf

 

แกลเลอรี่


ย้อนกลับ